วันพุธที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2556

จารชนอินเทอร์เน็ต


ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตแรกเริ่มนั้นจำกัดอยู่เพียงกลุ่มนักวิชาการ ตราบกระทั่งเครือข่ายขยายออกไปทั่วโลกเปิดโอกาสให้บุคคลทุกระดับทุกอาชีพมีสิทธิ์เป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคมอินเทอร์เน็ตได้ ความปลอดภัยของข้อมูลเริ่มเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังมากยิ่งขึ้น ในระยะเวลาที่ผ่านมามีการลักลอบเข้าไปใช้เครื่องในศูนย์คอมพิวเตอร์ใหญ่ ๆ หลายต่อหลายครั้ง ถึงแม้ว่าบางครั้งจะจับได้แต่ก็ต้องอาศัยความพยายามและเทคนิคในการสะกดรอยด้วยความยากลำบากกว่าจะทราบได้ว่าจารชนเหล่านี้แฝงกายอยู่ที่มุมใดในโลก
เรามักจะเรียกพวกที่มีความสามารถเจาะเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ว่า "แฮกเกอร์" (Hacker) ซึ่งความหมายดั้งเดิมที่แท้จริงแล้ว แฮกเกอร์สื่อความหมายถึงผู้เชี่ยวชาญด้านโอเอสหรือระบบ สามารถเข้าไปแก้ไข ดัดแปลงการทำงานระดับลึกได้ หรือในสารบบความปลอดภัยแล้ว แฮกเกอร์เป็นอาชีพหนึ่งที่ทำหน้าที่เจาะระบบและค้นหาจุดอ่อนเพื่อหาหนทางแก้ไขป้องกัน ส่วนพวกที่เจาะระบบเข้าไปโดยไม่ประสงค์ดีมีชื่อเรียกโดยเฉพาะว่า "แครกเกอร์" (Cracker) พวกหลังนี้เข้าข่ายจารชนอิเล็กทรอนิกส์ที่มักชอบก่อกวนสร้างความวุ่นวายหรือทำงานเป็นมืออาชีพที่คอยล้วงความลับหรือข้อมูลไปขาย แต่จะทำอย่างไรได้เมื่อคำว่าแฮกเกอร์ใช้ผิดความหมายจนติดปากไปโดยปริยายเสียแล้ว
ม้าโทรจัน
โปรแกรมม้าโทรจันเป็นโปรแกรมที่ลวงให้ผู้ใช้งานเข้าใจผิดว่าเป็นโปรแกรมปกติโปรแกรมหนึ่งที่ใช้งานอยู่เป็นประจำ แต่การทำงานจริงกลับเป็นการดักจับข้อมูลเพื่อส่งไปให้แครกเกอร์ ตัวอย่างเช่นโปรแกรมโทรจันที่ลวงว่าเป็นโปรแกรมล็อกอินเข้าสู่ระบบ เมื่อผู้ใช้ป้อนบัญชีและรหัสผ่านก็จะแอบส่งรหัสผ่านไปให้แครกเกอร
ประตูกล
แครกเกอร์ใช้ ประตูลับ (backdoors) ซึ่งเป็นวิธีพิเศษเข้าสู่ระบบโดยไม่ได้รับอนุญาต ความหมายของประตูลับอาจรวมไปถึงวิธีการที่ผู้พัฒนาโปรแกรมทิ้งรหัสพิเศษหรือเปิดทางเฉพาะไว้ในโปรแกรมโดยไม่ให้ผู้ใช้ล่วงรู้ แครกเกอร์ส่วนใหญ่จะมีชุดซอฟต์แวร์ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเจาะเข้าสู่ระบบตามจุดอ่อนที่มีอยู่ด้วยวิธีการต่าง ๆ
ซอฟต์แวร์ตรวจช่วงโหว่ระบบ
ในอินเทอร์เน็ตมีซอฟต์แวร์เป็นจำนวนมากที่ใช้ในการตรวจวิเคราะห์หารูโหว่ของระบบรักษาความปลอดภัยซอฟต์แวร์เหล่านี้เผยแพร่โดยไม่คิดมูลค่าและเป็นเสมือนดาบสองคมที่ทั้งแฮกเกอร์และแครกเกอร์นำไปใช้ด้วยจุดประสงค์ที่ต่างกัน ซอฟต์แวร์ในกลุ่มนี้ซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายได้แก่ Internet Security Scanner,SATAN COPS และ Tiger เป็นต้น
การป้องกันและระวังภัย
ในปัจจุบันมีซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์หลากหลายที่ใช้เป็นเครื่องมือรักษาความปลอดภัยในระบบ ตัวอย่างซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัยเบื้องต้นได้กล่าวไปในหัวข้อที่แล้ว ส่วนซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งเป็นระบบรักษาความปลอดภัยที่กำลังเริ่มใช้อย่างแพร่หลายได้แก่ระบบไฟร์วอลล์ (Firewall) ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ทำหน้าที่เสมือนกับกำแพงกันไฟไม่ให้ลุกลามขยายตัวหากมีไฟไหม้เกิดขึ้น
ไฟร์วอลล์จะอาศัยคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งเป็นด่านเข้าออกเครือข่ายและเป็นเสมือนกำแพงกันไฟ และมีซอฟต์แวร์ที่ผู้ดูแลระบบจะติดตั้งและกำหนดรูปแบบการอนุญาตให้เข้าใช้เครือข่าย
อินเทอร์เน็ตมีหน่วยงาน CERT (Computer Emergency Response Team) ทำหน้าที่เป็นเสมือน "ตำรวจอินเทอร์เน็ต" คอยดูแลความปลอดภัยในเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทั่วโลก อย่างไรก็ตาม หน่วยงาน CERT ไม่ได้มีอำนาจในการจัดการหรือจับกุมแครกเกอร์ หากเพียงแต่คอยทำหน้าที่เตือนและช่วยเหลือตลอดจนแจ้งข่าวเมื่อพบปัญหาด้านความปลอดภัยในระบบเพื่อให้ผู้ดูแลระบบสามารถแก้ไขได้ทันท่วงที CERT จะประกาศข่าวเตือนภายใต้หัวข้อข่าว Comp.security.announce เป็นประจำ
ส่งท้าย
ไม่ว่าระบบเครือข่ายจะมีฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ที่ดีเพียงใดในการปกป้องระบบเครือข่าย สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือผู้ใช้งานในระบบจะต้องคอยช่วยสอดส่องดูแลและป้องกันไม่ให้ตนเองเป็นช่องทางผ่านของแครกเกอร์ผู้ดูแลระบบจะต้องคอยติดตามและหาวิธีการป้องกันและแก้ไขจุดบกพร่องของซอฟต์แวร์ที่ใช้งาน พึงระลึกไว้ว่าไม่มีระบบเครือข่ายใดที่ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์จากแครกเกอร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น